เครดิตบูโรสำคัญอย่างไร ทำความรู้จักกับการเช็คประวัติเครดิตบูโรและวิธีการขอเครดิตบูโร

  1. เครดิตบูโร

ที่มา :

 

เครดิตบูโรคืออะไร?

เครดิตบูโร (Credit Bureau) เป็นอีกคำศัพท์ทางการเงินที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก สามารถเรียกอีกอย่างได้ว่า บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ซึ่งหมายถึง สถาบันที่มีบทบาทในการจัดเก็บข้อมูลของบัญชีสินเชื่อ และการชำระสินเชื่อทุกประเภททั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล 

ประวัติเครดิตบูโร

ประวัติเครดิตบูโรเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยช่วงหลังวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ระบบเศรษฐกิจ และระบบสถาบันการเงินของไทยเกิดการล่มสลายอันเนื่องมาจากการมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ในระบบสูงกว่า 47% ซึ่งหนี้เหล่าหนี้เกิดมาจากการผิดนัดชําระหนี้ และไม่สามารถจะชําระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่สถาบันการเงินเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป โดยในระยะแรกเริ่มเครดิตบูโรทำการเก็บข้อมูลเฉพาะ ข้อมูลสินเชื่อ ที่ประกอบไปด้วยการชำระสินเชื่อทั้งรูปแบบชำระตรง ชำระครบ และค้างชำระเท่านั้น ต่อมาในปีพ.ศ. 2545 เริ่มมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับเครดิตบูโร คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันการเงินจำเป็นต้องมีการจัดเก็บข้อมูลทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า เพื่อไม่ทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซ้ำซ้อน ซึ่งการออกพ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้แก่ธนาคารและสถาบันทางการเงินมากขึ้น จนในปีพ.ศ. 2548 บริษัทเครดิตบูโรทั้ง 2 แห่งในประเทศไทยได้ควบรวมกันกลายเป็นบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด เพื่อรวมข้อมูลเป็นศูนย์กลางเดียวและเปลี่ยนเป็นสถานะบริษัทเอกชน เพื่อให้ง่ายต่อการบริษัทจัดการมากขึ้น โดยทั้งระบบของเครดิตบูโรจะมีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตที่มีผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานในการกำกับดูแล

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) คืออะไร?

ที่มา :  

จากที่กล่าวถึง NPL ไปข้างต้น ต่อมาขอขยายคำจำกัดความเพื่อให้คุณเข้าใจความหมายของศัพท์สำคัญทางการเงินคำนี้มากยิ่งขึ้น โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือในภาษาอังกฤษ คือ Non-Performing Loan ตัวย่อ NPL นั้นหมายถึง เงินให้สินเชื่อของธนาคารประเภทพาณิชย์ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานซึ่งมีคุณสมบัติสงสัย และ/หรือสงสัยจะสูญ และ/หรือสูญเงินให้สินเชื่อที่ลูกหนี้ได้ทำการผิดนัดชาระหนี้เป็นระยะเวลานานเกินกว่า 90 วัน หรือ 3 เดือนนั่นเอง

พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต

ในย่อหน้านี้ขอเสริมความรู้ให้แก่ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบข้อกฎหมายพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต เป็นอักพ.ร.บ.ที่มีความสำคัญต่อคุณ โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ถูกระบุตามธนาคารแห่งประเทศไทยว่า คือ การให้กู้ยืมเงิน หรือให้สินเชื่อทางการเงินของสถาบันการเงิน ข้อสำคัญเลยก็คือจำเป็นต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน รวมไปถึงประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าของสถาบันทางการเงินนั้นๆ โดยต้องทราบถึงว่าลูกค้าคนดังกล่าวมีประวัติอย่างไร รวมไปถึงทราบว่ามีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่นแค่ไหนอีกด้วย ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาการให้กู้ยืมเงิน หรือแม้กระทั่งการให้สินเชื่อของสถาบันทางการเงินมีข้อมูลไม่สมบูรณ์เพียงพอ ก่อให้เกิด NPL เพิ่มมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับด้านความมั่นในภาพรสวมของระบบสถาบันทางการเงิน

บทบาทหน้าที่ของเครดิตบูโร

บทบาทหน้าที่ของเครดิตบูโรสามารถเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือในการป้องกันการเกิดหนี้เสีย หรือ NPL ในระบบที่มากเกินไป โดยใช้วิธีการรวมศูนย์ข้อมูลของบุคคลในทุกๆ ธนาคารหรือสถาบันการเงินมาไว้รวมกันที่เดียว เมื่อบุคคลดังกล่าวจะมายื่นขอสินเชื่อ ผู้ดูแลในสถาบันการเงินในเครือสมาชิกเครดิตบูโรจะสามารถมาตรวจสอบข้อมูลและประวัติการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ ไปพิจารณาประกอบกับข้อมูลรายได้ ภาระการใช้จ่าย และข้อมูลทางธุรกิจอื่นๆ  ตามความเหมาะสมในการพิจารณาสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน

ประเภทของเครดิตบูโร

ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่เครดิตบูโรทำการจัดเก็บ สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลบ่งชี้ และข้อมูลสินเชื่อคือ ข้อมูลสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติและประวัติการชำระหนี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อมูลบ่งชี้

รูปแบบแรก คือ ข้อมูลบ่งชี้ อันหมายถึงข้อมูลที่แสดงข้อเท็จจริงของลูกค้า และข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบไปด้วย ชื่อ-สกุล วันเดือนปีเกิด เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลที่อยู่ที่ลงทะเบียนไว้กับสถาบันการเงินและหรือบริษัทที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร แต่ทั้งนี้จะไม่มีการจัดเก็บข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ 

ข้อมูลสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติและประวัติการชำระหนี้

ข้อมูลรูปแบบที่สองคือ ข้อมูลสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติและประวัติการชำระหนี้ โดยส่วนดังกล่าวจะถูกจำแนกตามบัญชีที่มีอยู่ในแต่ละสถาบันการเงิน ประกอบไปด้วย ข้อมูลสรุปบัญชีสินเชื่อทุกประเภท เลขที่บัญชีของทุกบัญชีที่ลูกค้าถือครองอยู่   วงเงินที่ได้รับการอนุมัติและวงเงินคงเหลือ สถานะของบัญชี (บัญชีปกติ บัญชีปิด บัญชีพักชำระหนี้ หรือบัญชีค้างชำระหนี้) รวมไปถึงการจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดและประวัติการชำระหนี้ อาทิเช่น วันชำระหนี้ล่าสุด การชำระตรงหรือล่าช้าหรือผิดนัด รวมไปถึงวันปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น 

การตรวจเครดิตบูโร

การขอเครดิตบูโร หรือการตรวจเครดิตบูโร ในปัจจุบันสามารถทำได้ไม่ยาก สามารถแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การขอบริการแบบรอรับได้ และการขอเครดิตบูโรแบบส่งรายงานกลับไปให้ที่บ้าน ซึ่งคุณสามารถเช็คเครดิตบูโรผ่านมือถือได้เช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

การขอบริการแบบรอรับได้

รูปแบบแรก คือ การขอบริการแบบรอรับได้ โดยมีสถานที่ให้บริการหลักอยู่ 4 แห่ง ดังนี้ 

  1. ธนาคารอาคารสงเคราะห์สำนักงานใหญ่ 
  2. ศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโร มี 4 สาขาดังนี้ สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ห้างเจเวนิว (นวนคร) และอาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 
  3. CITI สาขาเดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน
  4. ธนาคารยูโอบี (UOB) เปิดให้บริการที่สาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต และเดอะมอลล์ ท่าพระ

โดยที่ CITI และธนาคาร UOB สามารถรอรับได้เลยภายใน 15 นาที ซึ่งมีค่าบริการ 100 บาท สำหรับกรณีบุคคลธรรมดาใช้เอกสารแค่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวตัวจริงเท่านั้น ส่วนกรณีนิติบุคคล ใช้สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล (รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน) ที่มีการลงนามโดยคณะกรรมการผู้มีอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงนำมาแสดง ตราประทับของนิติบุคคล (ถ้ามี)

การขอเครดิตบูโรแบบส่งรายงานกลับไปให้ที่บ้าน

รูปแบบที่สอง คือ การขอเครดิตบูโรแบบส่งรายงานกลับไปให้ที่บ้าน (ไปรษณีย์แบบลงทะเบียน) มีค่าบริการ 150 บาท โดยจะได้รับเอกสารภายใน 7 วันทำการ รวมถึงสามารถเช็คเครดิตบูโรผ่านมือถือในระบบออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยการเช็คบูโรผ่านแอพพลิเคชั่น Mobile Banking/Net Bank ธนาคารกรุงไทย และธนาคารธนชาต หรือทางเว็ปไซต์ธนาคารออนไลน์ กรุงศรีอยุธยา และธนาคารกรุงไทย นอกเหนือจากช่องทางออนไลน์แล้วยังมีช่องทางออฟไลน์  ดังต่อไปนี้

  1. เคาน์เตอร์ธนาคารธนาคารกรุงศรีอยุธยา , ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารธนชาต ,ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
  2. ตรวจสอบผ่านตู้ ATM กรุงไทย หรือไทยพาณิชย์ โดยใช้บัตร ATM ทำรายการในหมวดหมู่การตรวจเครดิตบูโร
  3. ที่ทำการไปรษณีย์ โดยสามารถสอบถามสาขาที่ให้บริการได้ที่ Call Center 1545 หรือเว็ปไซต์ www.thailandpost.co.th

หากไม่สะดวกที่จะดำเนินการด้วยตัวเองทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์สามารถออกหนังสือมอบอำนาจ โดยใช้บัตรประชาชนตัวจริงสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ (ผู้ที่ต้องการตรวจเครดิตบูโร)และผู้รับมอบอำนาจ และหนังสือมอบอำนาจตรวจสอบข้อมูลเครดิต โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.ncb.co.th ซึ่งสามารถดำเนินการได้ที่หน้าสาขาตามสถานที่ให้บริการตามที่แจ้งไปข้างต้นเท่านั้น

 

เครดิตบูโรกับสถานการณ์ในปีพ.ศ 2566 (ค.ศ. 2023)

จากช่องทางทั้งหมดข้างต้นการขอเช็คเครดิตบูโรในปัจจุบันสามารถทำได้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตรวจบูโรผ่านแอพธนาคาร หรือใช้แอพเช็คเครดิตบูโร “บูโร โอเค” ที่ทางเครดิตบูโรมีการพัฒนาแอพเช็คเครดิตบูโรสำหรับตรวจบูโรโดยเฉพาะ แอพเช็คเครดิตบูโรเพิ่งเปิดใช้บริการไปเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 หรือปีค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ โดยในระยะแรกสามารถลงทะเบียนใช้บริการได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกสาขา ซึ่งตรวจบูโรผ่านแอพ“บูโร โอเค” จะส่งผลการตรวจบูโรมาให้ทางอีเมลทันที ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมให้เจ้าของข้อมูลหรือเจ้าของบัญชี สามารถเข้าถึงข้อมูลเครดิต และประวัติการชำระหนี้ของตนเองได้มากขึ้น สะดวกขึ้น และบ่อยครั้งขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการวางแผนเพื่อขอสินเชื่อ แต่ก็ควรมีการตรวจเครดิตบูโรของตัวเองอยู่อย่าสม่ำเสมอ เพื่อเช็คว่าบัญชีต่างๆ ภายในครอบครองมีหนี้สิน ประวัติการค้างชำระ หรือหนี้งอกที่ไม่ใช่ของเราอยู่หรือไม่ รวมถึงอย่าลืมที่จะเช็คสถานะบัญชีเพื่อที่จะดูว่าหนี้ที่ชำระไปหมดแล้ว มีสถานะปิดบัญชีและยอดหนี้เป็นศูนย์แล้วหรือยัง 

ที่มา :

 

ข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับเครดิตบูโร

ปัจจุบันทางสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองจากทุกภาคส่วน เนื่องจากมีความสำคัญทั้งต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือน และต่อระบบการเงินไทย โดยข้อมูลเชิงสถิติของสินเชื่อบุคคลของเครดิตบูโรเป็นข้อมูลรายบัญชีที่ถูกเก็บอย่างเป็นระบบโดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกรายงานกว่า 90 แห่งส่งมารวมกันที่ศูนย์รวมเครดิตบูโรในทุกๆ เดือน ซึ่งข้อมูลนี้ครอบคลุมผู้กู้ในระบบเกือบทั้งหมด และครอบคลุมถึง 87% ของปริมาณหนี้ในระบบของครัวเรือนในทุก ๆ สัญญาเงินกู้ของผู้กู้แต่ละรายกับทุกสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกจากทั่วทุกสาขาทั้งประเทศ ถือได้ว่าเป็นคลังข้อมูล Big Data ขนาดใหญ่ที่สามารถสะท้อนสถานการณ์หนี้รายคนของผู้กู้แต่ละรายครอบคลุมทั่วประเทศ และสามารถสะท้อนการกระจายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยทั้งประเทศได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างข้อมูลเชิงสถิติที่ใช้ข้อมูลเครดิตบูโรทั่วทั้งประเทศไทย เห็นได้ว่าแต่ละจุดสีแดงที่เกิดขึ้นบนภาพแสดงจำนวนผู้กู้จำนวน 100 รายต่อ 1 จุด ส่วนจุดสีน้ำเงินแทนกลุ่มผู้กู้รายใหญ่ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าจำนวนจุดสีน้ำเงินส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มตามจังหวัดใหญ่ที่เป็นเมืองหลัก หรือเมืองศูนย์กลางระดับภูมิภาคอย่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการลงทุนของกลุ่มนายทุนรายใหญ่ และกลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งทำให้เมืองดังกล่าวมีจำนวนจุดสีแดงที่มากกว่าในพื้นที่เมืองอื่นๆ ด้วย เนื่องจากเมื่อมีการลงทุนภายในเมืองที่มาก จำนวนสินค้าและบริการภายในตลากก็มากเช่นกัน เป็นผลให้ผู้กู้รายย่อยมีภาระด้านการใช้จ่ายหรือการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มมาขึ้น ซึ่งนั่นก็คือการมีเครดิตบูโรเกิดขึ้นนั่นเอง

 

ที่มา : Chantarat et al (2017) จาก 

 

สิ่งที่ต้องรู้เพื่อไม่ให้เกิดการติดเครดิตบูโร

หลายคนคงอาจเกิดคำถามในใจว่าติดบูโรกี่ปีหาย ซึ่งก่อนที่คุณจะได้พบกับคำตอบที่ว่าติดบูโรกี่ปีหาย หรือคำตอบที่ว่าจะล้างเครดิตบูโรได้อย่างไรนั้น ขอพาคุณมาป้องกันการไม่ให้เกิดการติดเครดิตบูโรเสียก่อน โดยสิ่งที่ต้องรู้เพื่อไม่ให้เกิดการติดเครดิตบูโร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการติดเครดิตบูโรอะไร โดยเครดิตบูโรนั้น หมายถึงการผิดชำระหนี้ หรือชำระหนี้ตามกำหนดระยะเวลาที่ไม่ครบ ซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลการชำระไปยังบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อทำการบันทึกประวัติเอาไว้ เมื่อผู้กู้จะทำการกู้ครั้งใหม่ ข้อมูลเหล่านี้จึงถูกดึงมาใช้ในการพิจารณาการให้สินเชื่อต่างๆ ซึ่งการลบประวัติการติดเครดิตบูโร หรือการล้างเครดิตบูโร จะทำได้ก็ต่อเมื่อข้อมูลการชำระของบัญชีนั้นๆ มีอายุเกิน 3 ปีขึ้นไป นั่นก็หมายความได้ว่า ปกติเครดิตบูโรจะมีการบันทึกจัดเก็บข้อมูลเอาไว้ 3 ปี ทั้งข้อมูลการชำระที่ดี และที่ไม่ดีอย่างการเบี้ยวนัดชำระ ประวัติการทวงถาม การใช้จ่ายล่าช้า เป็นต้น ดังนั้นต่อให้มีการชำระหนี้ทั้งหมดและปิดบัญชีไปแล้ว ประวัติการติดเครดิตบูโรก็จะยังไม่หายไปจนกว่าจะครบเวลาการเก็บของมูล 

การล้างเครดิตบูโร

โดยการล้างเครดิตบูโรก็ต้องขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินของบัญชีนั้นๆ ว่าจะอนุมัติหรือไม่ บางแห่งอาจจะใช้เวลาตามเกณฑ์ 36 เดือน หรือ 3 ปีนั่นเอง แต่บางแห่งอาจจะใช้เวลาเพียง12 เดือน หรือ 1 ปีเท่านั้นแล้วแต่กฎเกณฑ์ของสถาบันการเงิน

การทวงหนี้จากสถาบันทางการเงิน

ที่มา :

สิ่งที่ต้องรู้สำหรับการทวงหนี้ ได้แก่ ปกติแล้วทางสถาบันการเงิน หรือธนาคารจะทำการส่งจดหมายทวงถามหนี้มาให้ในทุกๆ เดือน และจะส่งข้อมูลการทวงถามดังกล่าวกลับมาให้เครดิตบูโรบันทึกไว้  การบันทึกข้อมูลของเครดิตบูโรจะบันทึกเป็นข้อมูล 36 แถวตามจำนวนเดือน ซึ่งแถวข้อมูลเดือนใหม่ที่เข้ามาจะเข้ามาแทนที่ข้อมูลของเก่าในบรรทัดสุดท้ายออก หากคิดว่าการรอเวลาให้ครบ 3 ปีเพื่อให้ข้อมูลการติดเครดิตบูโรหายไปเอง จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่ชำระหนี้นั้นภายใน 90 วัน หรือ 3เดือน โดยทางสถาบันการเงินจะส่งเรื่องการค้างชำระที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะยืดระยะเวลาในการบันทึกข้อมูลถูกยึดออกไปต่อเนื่อง ไม่เกิน 5 ปี

หากคุณผู้อ่านได้อ่านมาถึงตรงนี้และเริ่มรู้ตัวว่าตนเองมีภาระหนี้สินที่คงค้างไว้กับสถาบันการเงิน ก็อย่าลืมที่จะไปตรวจบูโร และปิดหนี้เหล่านั้นให้ไวที่สุด เพื่อจะได้แก้ไขสถานะบัญชีให้กลับมาปกติพร้อมใช้งานอีกครั้ง 

บทสรุป

ในส่วนสุดท้ายจะมาอธิบายเพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการถูกปฏิเสธสินเชื่อที่หลายๆ คนอาจจะเข้าผิด โดยการขอสินเชื่อนั้นขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินที่ไปขอสินเชื่อโดยตรง ทางเครดิตบูโรไม่ได้มีหน้าที่พิจารณาหรืออนุมัติสินเชื่อแต่อย่างใด ซึ่งสถาบันการเงินจะนำข้อมูลบุคคลและความสามารถในการหารายได้ไปพิจารณาตามเงื่อนไขเท่านั้น ในส่วนข้อมูลการชำระหนี้ทางสถาบันอาจจะขอข้อมูลจากทางเครดิตบูโรเพื่อประกอบการตัดสินใจอนุมัติเพิ่มเติม การที่ถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ ทางสถาบันการเงินจำเป็นต้องออกหนังสือมาชี้แจ้งให้ทราบ และอย่าลืมตรวจสอบข้อมูลการชี้แจ้งดังกล่าวอีกครั้งกับทางศูนย์รวจสอบเครดิตบูโรภายใน 30 วัน หรือ 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือปฏิเสธสินเชื่อ และอย่าลืมเสมอว่า การมีประวัติบูโรที่ดีจะต้องเริ่มจากการมีหนี้เป็นศูนย์

อ้างอิง

https://www.1213.or.th/th/aboutfcc/Documents/10.%20ทำความรู้จักกับเครดิตบูโร.pdf 

https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/loans/Pages/creditbureau.aspx

https://www.efinancethai.com/efinReview/eFinReviewMain.aspx?release=y&name=er_202002131400

https://www.bangkokbiznews.com/business/986973

https://www.pier.or.th/abridged/2017/10/

https://finstreet.co/credit-bureau/

https://moneyhub.in.th/article/ล้างประวัติเครดิตบูโร-ค/